Last updated: 29 ก.ค. 2566 | 385 จำนวนผู้เข้าชม |
ภาวะมีบุตรยาก
ภาวะมีบุตรยาก คือ การที่ผู้หญิงไม่สามารถตั้งครรภ์ได้หลังจากพยายามมีบุตรโดยการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกันอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะเวลา 1 ปี แต่หากมีอายุ 35 ปีขึ้นไปอาจจะถือว่ามีภาวะมีบุตรยาก หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะเวลากว่า 6 เดือนแล้วไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ โดยพบว่าอย่างน้อย 15 % ของคู่สมรสมีปัญหาในการตั้งครรภ์
ต้นเหตุภาวะมีบุตรยาก
สาเหตุของภาวะมีบุตรยากแบ่งเป็น 5 สาเหตุหลัก ได้แก่
1) ปัญหาการตกไข่ (Ovulation Factor) พบประมาณ 25% ของคู่สมรสที่มีบุตรยาก การประเมินการตกไข่สามารถตรวจได้ด้วยตนเอง โดยใช้ชุดทดสอบการตกไข่ซึ่งหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายยา หลักการคือตรวจปัสสาวะเพื่อดูว่ามีฮอร์โมนไข่ตก (LH – Luteinizing Hormone) ออกมาในปัสสาวะหรือไม่ โดยมักจะตรวจพบฮอร์โมน LH สูงขึ้น (LH Surge) ประมาณ 24 – 36 ชั่วโมงก่อนไข่ตก จึงสามารถทำนายช่วงระยะเวลาที่ไข่จะตกได้และควรมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ แต่การตรวจวิธีนี้ก็ยังมีปัญหาเรื่องผลลบลวงอยู่พอสมควร หมายความว่า แม้จะมีการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนไข่ตก แต่อาจตรวจไม่ตรงเวลาหรือแถบตรวจแสดงผลเป็นลบหรือบวกอ่อน ๆ ทำให้ยากต่อการตัดสินใจ
2) ปัญหาท่อนำไข่ (Tubal Factor) ในกระบวนการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ ท่อนำไข่เป็นอวัยวะที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นที่ที่ไข่และอสุจิจะพบกันและเกิดการปฏิสนธิ การตรวจสอบว่าท่อนำไข่มีการตีบตันหรือไม่ ทำได้โดยการตรวจเอกซเรย์ฉีดสีดูท่อนำไข่ (Hysterosalpingogram – HSG) จากผลการตรวจ HSG ผู้หญิงที่สงสัยว่ามีท่อนำไข่ตีบตันในบางรูปแบบ แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดผ่านกล้องดูในอุ้งเชิงกราน (Laparoscopy) เพื่อประเมินสภาวะของท่อนำไข่และในบางกรณีอาจทำการผ่าตัดแก้ไขท่อนำไข่ที่ตีบตันได้
3) ปัญหาอสุจิ (Male Factor) พบประมาณ 40% ของคู่สมรสที่มีบุตรยาก การตรวจอสุจิ (Semen Analysis) จะช่วยบอกคุณภาพของน้ำเชื้อ ปริมาณตัวอสุจิ การเคลื่อนไหวของตัวอสุจิ รวมไปถึงรูปร่างตัวอสุจิ โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการตรวจอสุจิ ฝ่ายชายควรงดเว้นจากการหลั่งน้ำเชื้อหรือมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 3 – 7 วัน และทำการเก็บอสุจิด้วยตัวเองใส่ภาชนะที่ทางโรงพยาบาลจัดให้และส่งให้ทางห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากหลั่งน้ำเชื้อ
ในกรณีที่ผลตรวจอสุจิมีความผิดปกติ แพทย์อาจจะพิจารณาตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติมโดยการเจาะเลือดดูระดับฮอร์โมนหรือเจาะชิ้นเนื้อลูกอัณฑะมาตรวจหาตัวอสุจิ (Testes Biopsy) หากไม่พบว่ามีตัวอสุจิในน้ำอสุจิ (Azoospermia) ในรายที่สงสัยว่าอาจจะมีความผิดปกติบริเวณลูกอัณฑะ เช่น มีเส้นเลือดขอดที่ถุงอัณฑะหรือลูกอัณฑะผิดปกติจะได้รับการตรวจเพิ่มเติมโดยแพทย์ผู้ชำนาญการระบบทางเดินปัสสาวะ (Urologist)
4) ปัญหาที่มดลูกและปากมดลูก (Uterine / Cervical Factor) สาเหตุของภาวะมีบุตรยากที่เกิดจากมดลูก ได้แก่ มดลูกมีความผิดปกติแต่กำเนิดบางชนิด เนื้องอกในโพรงมดลูก (Submucous Myoma) ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก (Endometrial Polyp) พังผืดในโพรงมดลูก (Intrauterine Adhesion) ซึ่งอาจรบกวนการฝังตัวของตัวอ่อน และยังเพิ่มความเสี่ยงของการแท้งบุตร การวินิจฉัยภาวะเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติม ได้แก่ อัลตราซาวนด์อุ้งเชิงกราน (Pelvic Ultrasound) หรือตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Pelvis) ในกรณีที่มดลูกมีความผิดปกติแต่กำเนิด การฉีดน้ำเกลือเข้าไปในโพรงมดลูก (Saline Instillation Sonohysterography) การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก (Diagnostic Hysteroscopy) เป็นต้น สำหรับผู้หญิงที่เคยผ่าตัดปากมดลูกเพื่อการรักษา (LEEP) เนื่องจากพบเซลล์ผิดปกติที่ปากมดลูก หลังการผ่าตัด LEEP ปากมดลูกมักจะมีการผิดรูปหรือตีบตัน อาจพบว่าเป็นสาเหตุของภาวะมีบุตรยากได้ ผู้หญิงกลุ่มนี้ในภายหลังหากตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดเพิ่มขึ้น
5) ปัญหาเยื่อบุภายในช่องท้อง (Peritoneal Factor) เยื่อบุช่องท้อง (Peritoneum) เป็นเนื้อเยื่อที่ปกคลุมอวัยวะภายในช่องท้องและอุ้งเชิงกราน รวมถึงมดลูก ท่อนำไข่ และรังไข่ การอักเสบของเยื่อบุช่องท้องหรือเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) บริเวณเยื่อบุช่องท้องที่ปกคลุมมดลูก ท่อนำไข่ หรือรังไข่ จะทำให้เกิดแผลเป็น (Scar) พังผืด (Adhesion) และอาจทำให้มีภาวะมีบุตรยาก พบได้ประมาณ 35% ของผู้หญิงที่มีบุตรยากโดยที่ตรวจไม่พบสาเหตุอื่น ซึ่งมักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดประจำเดือนมาก ปวดท้องน้อยเรื้อรัง หรือมีอาการเจ็บลึก ๆ ในช่องคลอดและท้องน้อยเวลามีเพศสัมพันธ์ แต่ในบางรายก็ไม่มีอาการผิดปกติ การวินิจฉัยภาวะนี้ทำได้โดยผ่าตัดผ่านกล้องดูในอุ้งเชิงกราน (Diagnostic Laparoscopy) แพทย์จะวินิจฉัยและรักษาภาวะเหล่านี้ได้ในขั้นตอนเดียว ถ้าส่องกล้องดูในอุ้งเชิงกรานแล้วพบว่ามีรอยโรคของเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ มีพังผืด หรือมีถุงน้ำช็อกโกแลตซีสต์ที่รังไข่ก็จะทำการจี้ไฟฟ้าเพื่อทำลายรอยโรค เลาะพังผืด เลาะถุงน้ำรังไข่ และฉีดสีประเมินดูการตีบตันของท่อนำไข่ในคราวเดียวกัน
อ้างอิง : https://www.bangkokhospital.com/
1 มิ.ย. 2567
6 มิ.ย. 2567
6 มิ.ย. 2567
1 มิ.ย. 2567