4 เทคนิคการปราบเด็กดื้อ

Last updated: 24 ต.ค. 2566  |  192 จำนวนผู้เข้าชม  | 

4 เทคนิคการปราบเด็กดื้อ

       ปัญหาลูกงอแงเป็นปัญหาปกติที่พ่อแม่หลายคนพบเจอ แต่จะเป็นปัญหาก็ต่อเมื่อลูกมีพฤติกรรมก้าวร้าวร่วมด้วย ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ เพื่อน หรือครู ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวหากไม่ได้รับการแก้ไขให้ถูกต้อง ก็จะส่งผลไปถึงตอนโต โดยพฤติกรรมดังกล่าวเกิดได้จากปัจจัยดังต่อไปนี้
       ปัจจัยทางชีวภาพ พฤติกรรมก้าวร้าวแบบนี้มีสาเหตุมาจากความบกพร่องทางชีวภาพร่างกายเมื่อมีความผิดปกติที่รบกวนสมองส่วนที่ควบคุมพฤติกรรมและอารมณ์ก็จะทำให้เกิดความก้าวร้าวได้ ซึ่งจะมีผลต่ออารมณ์ของเด็กทำให้ใจร้อนหรือใจเย็นได้

       ปัจจัยทางด้านจิตใจ ได้แก่ ลักษณะบุคลิกภาพของเด็กที่เกิดจากการเลี้ยงดูทำให้เกิดมีความมั่นคงทางด้านอารมณ์สูงหรือต่ำซึ่งเด็กที่ถูกเลี้ยงดูโดยการตามใจเอาแต่ใจตัวเองมักมีปัญหาในด้านนี้ซึ่งมักระบายความรู้สึก ด้วยการก้าวร้าว อาละวาด ต่อต้านและไม่สุภาพ
       ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม เช่นพฤติกรรมก้าวร้าวในครอบครัวพฤติกรรมก้าวร้าวผ่านทางสื่อเช่นทีวีวิดีโอเกมฯลฯจนเกิดเป็นการซึมซับ เลียนแบบ และแสดงออกด้วยความก้าวร้าว


4 เทคนิคการปราบเด็กดื้อ

  1. สงบสติอารมณ์ การนับ1-10 ขั้นต้นได้ผลดีเลยทีเดียวโดย เริ่มจากตัวคุณเองต้องอารมณ์เย็นเสียก่อน ซึ่งเทคนิคนี้ห้ามทำตอนเรามีอารมณ์ เพราะจะกลายเป็นเราทอดทิ้งลูก และแน่นอนการสอนไม่ใช่การเอาชนะลูก คิดเอาไว้เสมอว่าเราเป็นพ่อแม่เขา เรามีหน้าที่สอนไม่ใช่เอาชนะ
  2. มองหน้าลูก คุณต้องมองหน้าสบตาลูกให้ได้ และพูดด้วยเสียงนิ่ง สีหน้าเรียบอย่างจริงจัง “แม่จะรอหนูเงียบ เราถึงจะคุยกัน”
  3.  เพิกเฉยลูก ต่อมาให้คุณเพิกเฉยลูก ทั้งคำพูด ท่าที สายตา ไม่พูดซ้ำว่าลูกต้องเงียบ เพราะจะเป็นการเพิกเฉยไม่จริง รวมทั้งไม่เช็ดน้ำตาหรืออุ้ม ถ้าลูกพยายามเข้ามาให้กอดหรือให้อุ้ม ก็ควรลุกขึ้นยืนและหันไปทำอย่างอื่นแทน
    กรณีที่ลูกทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายคนอื่น รวมทั้งการทำลายข้าวของ อนุญาตให้หยุดเพิกเฉยชั่วคราว ถ้าลูกทำเช่นนั้นให้หันกลับไปจับมือลูกแน่นๆ ประมาณ 10 วินาที และมองหน้าลูกพร้อมพูดด้วยเสียงเรียบนิ่งว่า “ไม่ตีแม่/ไม่โยนของ” แล้วแกะของออกจากมือ จากนั้นปล่อยมือลูกและเฝ้าดูอีกสักครู่ หากลูกลุกขึ้นมาตีหรือโยนของอีกให้ทำซ้ำแบบเดิมจนกว่าลูกจะหยุด แล้วให้กลับไปเพิกเฉยต่อ
  4. กลับไปหาลูก เมื่อลูกเงียบแล้ว ให้คุณกลับไปหาลูก จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณต้องเข้าไปหาลูกเพื่อตอกย้ำเขาว่า เขาจะได้รับความสนใจก็เมื่อมีพฤติกรรมที่ดี เงียบ และจะถูกเพิกเฉยเมื่อมีพฤติกรรมร้องไห้เอาแต่ใจ โดยควรพูดกับลูกดังนี้
  • ให้ชมลูกแบบบรรยายพฤติกรรม เช่น “หนูเงียบแล้ว หนูเก่งค่ะลูก” 
  • ถามลูกว่า “เมื่อกี้นี้เกิดอะไรขึ้น” เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกได้ทบทวนเรื่องราวด้วยตัวเองก่อน ซึ่งจะช่วยให้ลูกเข้าใจตัวเองได้ดีกว่าการรอคำสอนอย่างเดียว และยังเป็นการกระตุ้นความฉลาดด้านการเข้าใจตนเองของลูกไปด้วยในตัว แต่หากลูกยังเล็ก และตอบไม่ได้ เราจะต้องเป็นคนค่อยๆ เรียบเรียงเรื่องให้ลูกเข้าใจ
  • หากิจกรรมที่ลูกชอบให้เขาทำเพื่อเป็นการปลอบลูก เช่น เล่านิทานให้ฟัง เล่นด้วยกัน แต่ไม่แนะนำให้เป็นสิ่งของ เพราะเด็กอาจเชื่อมโยงการหยุดร้องไห้กับการได้สิ่งของแทน


       การที่เราจะปราบเด็กดื้อได้ต้องมาจากความเข้าใจตัวลูก ใส่ใจเขาว่าเกิดพฤติกรรมเหล่านี้จากอะไรและพยายามใจเย็น ซึ่งทั่วไปแล้วเมื่อเริ่มทำเทคนิคนี้ในครั้งแรก การร้องไห้จะรุนแรงขึ้นและยาวนานกว่าปกติที่ลูกเคยงอแง คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องตกใจ เป็นเพราะเด็กจะสงสัยและไม่เข้าใจว่าทำไมการงอแงครั้งนี้ไม่ได้ผลเหมือนเดิม ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องใจแข็งและค่อยๆสอนไป น้องจะเข้าใจและเรียนรู้ได้ในครั้งถัดไป เอาใจช่วยคุณพ่อคุณแม่ปราบเด็กดื้อตัวน้อยให้เป็นเด็กดีน่ารักกันนะคะ

ที่มา : https://www.pptvhd36.com/health/how-to/2337

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้