10 วิธีกระตุ้นพัฒนาการทารกในครรภ์

Last updated: 29 ก.ย. 2566  |  4946 จำนวนผู้เข้าชม  | 

 10 วิธีกระตุ้นพัฒนาการทารกในครรภ์

 10 วิธีกระตุ้นพัฒนาการทารกในครรภ์

     กระตุ้นพัฒนาการ ทารกในครรภ์ นับตั้งแต่กระบวนการปฏิสนธิโดยสมบูรณ์ ไข่ผสมกับสเปิร์มและสร้างเป็นตัวอ่อน สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ภายในท้องของคุณแม่ก็เริ่มพัฒนาต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ และสร้างระบบอวัยวะต่างมากมายรวมทั้งเซลล์สมองที่มีการเพิ่มทั้งจำนวนและขนาด เกิดเป็นเนื้อสมองและเส้นใยประสาทที่เชื่อมโยงกับสมองและเชื่อมโยงกันเองเกิดเป็นข่ายใยเส้นประสาทอย่างมากและรวดเร็วเพื่อทำหน้าที่ต่าง ๆ ดังนั้นช่วงทองที่คุณแม่จะกระตุ้นพัฒนาการของสมองลูกน้อยสามารถเริ่มได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ตลอด 9 เดือนกันเลย

     กระตุ้นพัฒนาการทารกครรภ์วิธีที่ 1 : การปรับอารมณ์ให้ดีอยู่เสมอ
จะช่วยกระตุ้นลูกรักในครรภ์ การศึกษาทางการแพทย์พบว่า คุณแม่ที่อารมณ์ดีอยู่เสมอจะทำให้ร่างกายมีการหลั่งสารแห่งความสุขที่เรียกว่า เอนดอร์ฟิน ออกมาผ่านไปทางสายสะดือไปยังลูก ทำให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีทั้งสมอง (IQ) และอารมณ์ (EQ) รวมถึงตอนคุณพ่ออารมณ์ดี ๆ เข้ามากอดท้องแม่ มาคุยกับลูก เสียงคุณพ่อก็สร้างความอบอุ่นและปลอดภัยมาก ๆ 

      กระตุ้นพัฒนาการทารกครรภ์วิธีที่ 2 : ฟังเพลง
     เสียงเพลงกระตุ้นจะทำให้เครือข่ายใยประสาทที่ทำงานเกี่ยวกับการได้ยินของลูกมีพัฒนาการดีขึ้น เมื่อลูกคลอดออกมา มีความสามารถในการจัดลำดับความคิดในสมอง รู้สึกผ่อนคลาย และจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ดี คุณพ่ออาจจะร้องเพลงให้ลูกฟังเอง หรือ หาเพลงให้คุณแม่และลูกฟัง โดยควรจะเปิดเพลงให้อยู่ห่างจากหน้าท้องประมาณ 1 ฟุต 

     กระตุ้นพัฒนาการทารกครรภ์วิธีที่ 3 : พูดคุยกับลูก
     การพูดคุยกับลูกในครรภ์บ่อย ๆ จะช่วยให้ระบบประสาทและสมองที่ควบคุมการได้ยินมีพัฒนาการที่ดีและเตรียม พร้อมสำหรับการได้ยินหลังคลอด คุณพ่อคุณแม่ควรพูดกับลูกบ่อย ๆ ด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล ประโยคซ้ำ ๆ เพื่อให้ลูกคุ้นเคย

     กระตุ้นพัฒนาการทารกครรภ์วิธีที่ 4 : นวด ลูบหน้าท้อง
     การลูบหน้าท้องจะกระตุ้นระบบประสาทและสมองส่วนรับรู้ความรู้สึกของลูกให้มีพัฒนาการดีขึ้น การลูบท้องควรลูบเป็นวงกลม จากบนลงล่างหรือจากล่างขึ้นบน บริเวณไหนก่อนก็ได้

     กระตุ้นพัฒนาการทารกครรภ์วิธีที่ 5 : ส่องไฟที่หน้าท้อง
      ลูกในท้องสามารถกระพริบตาตอบสนองต่อแสงไฟที่กระตุ้นได้ตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณ 7 เดือน การส่องไฟที่หน้าท้องจะทำให้เซลล์สมองและเส้นประสาทส่วนรับภาพและการมองเห็น มีพัฒนาดีขึ้นและเตรียมพร้อมสำหรับการมองเห็นภายหลังคลอด

      กระตุ้นพัฒนาการทารกครรภ์วิธีที่ 6 : ออกกำลังกาย
       เวลาคุณแม่มีการออกกำลังกาย ลูกที่อยู่ในครรภ์ก็จะมีการเคลื่อนไหวตามไปด้วย และผิวกายของลูกจะไปกระแทกกับผนังด้านในของมดลูก ซึ่งจะกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสของลูกให้พัฒนาดีขึ้น

      กระตุ้นพัฒนาการทารกครรภ์วิธีที่ 7 : เลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม
      เนื้อสมองของลูกน้อยในครรภ์มีองค์ประกอบเป็นไขมัน โดยเฉพาะไขมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว 60% กรดไขมันไม่อิ่มตัวที่ความสำคัญคือ DHA ซึ่งมีมากในอาหารปลาพวกปลาทะเลและสาหร่ายทะเล และ ARA ซึ่งมีมากในอาหารพวกน้ำมันพืช เช่น น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันเม็ดทานตะวัน น้ำมันข้าวโพด เป็นต้น คุณพ่อต้องหาอาหารประเภทนี้ให้คุณแม่กินบ่อย ๆ ลูกก็จะได้ประโยชน์ไปด้วย

      กระตุ้นพัฒนาการทารกครรภ์วิธีที่ 8 : เดินเล่นกระตุ้นทารกในครรภ์
      การออกไปเดินเล่นยืดเส้นยืดสายถือเป็นการออกกำลังกายเบา ๆ ยิ่งช่วงเวลาเช้าหรือเย็นที่อากาศดี ไม่ร้อนเกินไปจะช่วยให้สดชื่นจากการรับออกซิเจนได้ด้วย คุณพ่อควรชวนและพาคุณแม่ไปเดินเล่นด้วยกันบ่อย ๆ ค่ะ
      กระตุ้นพัฒนาการทารกครรภ์วิธีที่ 9 : ให้ลูกเตะ
      คุณพ่อคุณแม่อาจจะเล่นหรือกระตุ้นลูกด้วยการเอามือลูบ หรือกระตุ้นให้ลูกเตะมากขึ้น เมื่อลูกได้รับการกระตุ้นจากภายนอกก็จะขยับตัวมากขึ้น ช่วยให้ลูกได้ออกกำลังกาย ยืดเส้นยืดสายอยู่ในท้อง และยังทำให้ทราบว่าลูกยังเคลื่อนไหวเป็นปกติอยู่ค่ะ
     กระตุ้นพัฒนาการทารกครรภ์วิธีที่ 10 : อ่านหนังสือ อ่านนิทาน
     การอ่านหนังสือคล้ายกับการพูดคุย หรือให้ลูกฟังเพลง เป็นการกระตุ้นการได้ยินของลูก การเล่านิทานหรืออ่านหนังสือให้ลูกฟังช่วยให้แม่ได้ผ่อนคลายและช่วยให้ลูกในท้องจดจำเสียงพ่อแม่ได้ตั้งแต่ในครรภ์

พัฒนาการทารกในครรภ์ตลอดช่วงการตั้งครรภ์ 9 เดือน

  • ช่วงเดือนที่ 1-3 : เป็นช่วงที่ร่างกายเริ่มมีการ   ปฏิสนธิไข่ และฝังตัวอยู่ในผนังมดลูก และเมื่ออายุ 2 เดือนขึ้นไปร่างกายจะเริ่มสร้างอวัยวะต่างๆที่สำคัญขึ้นมา
  • ช่วงเดือนที่ 4 - 5 : เป็นช่วงที่ลูกน้อยที่เริ่มโตขึ้น และสามารถจดจำหรือแยกแยะเสียงของคุณพ่อคุณแม่ได้
  • ช่วงเดือนที่ 6 - 7 : เป็นช่วงที่เซลล์ประสาทภายในสมองของทารก มีการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลล์ประสาทควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ และจะเริ่มลืมตา หรือกะพริบตาเมื่อเห็นแสง บางครั้งอาจดิ้นแรงจนคุณแม่รู้สึกได้
  • ช่วงเดือนที่ 8 - 9 (32-36 สัปดาห์) : เป็นช่วงที่ลูกอยู่ในตำแหน่งที่พร้อมคลอด หรืออวัยวะทุกส่วนเติบโตเต็มที่ และพร้อมที่จะคลอดได้ตลอดเวลา

อ้างอิง : https://www.rakluke.com/pregnancy-all/pregnancy-health/item/10-5.html

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้