จุกหลอก ดีหรือไม่ดีต่อเบบี๋กันแน่นะ
วิธีการเลือกจุกนมสำหรับคุณแม่มือใหม่
แต่โดยพื้นฐานของการเลือกจุกหลอกแล้ว คุณแม่ควรพิจารณาองค์ประกอบของจุกหลอก ดังนี้
- เลือกใช้จุกหลอกแบบชิ้นเดียว เพราะจุกหลอกบางยี่ห้ออาจออกแบบมาให้มีสองจุก ซึ่งเสี่ยงที่จะเกิดการสำลักได้
- เลือกใช้จุกหลอกที่ทำมาจากซิลิโคน เพราะค่อนข้างมีความทนทาน สามารถทำความสะอาดได้ง่าย สะดวกต่อการเก็บรักษา
- เลือกจุกหลอกที่มีการระบุคำว่า “BPA Free หรือ Bisphenol A Free” เนื่องจากสารชนิดดังกล่าวเสี่ยงที่จะสร้างความผิดปกติต่อร่างกายและพัฒนาการของเด็ก ทั้งยังเป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วย
- เลือกใช้จุกหลอกที่ทำมาจากยางธรรมชาติ เพราะปราศจากสารเคมี ลดความเสี่ยงของการรับสารเคมีเข้าสู่ร่างกายตั้งแต่เด็ก
- เลือกจุกหลอกที่ใหญ่กว่าปากของเด็ก จุกหลอกที่มีขนาดเล็กกว่าช่องปากของเด็ก เสี่ยงที่จะผลุบเข้าปาก ซึ่งอาจติดคอ หรือทำให้เกิดการสำลัก อาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้
- เลือกจุกหลอกที่สามารถทำความสะอาดได้ง่าย จุกหลอกบางยี่ห้ออาจออกแบบมาให้มีลูกเล่นหลากหลาย ซึ่งบางครั้งก็ยากต่อการทำความสะอาด ควรเลือกจุกหลอกที่ดีไซน์ออกแบบมาให้เหมาะกับการใช้งาน และทำความสะอาดฆ่าเชื้อได้ง่าย
- ซื้อจุกหลอกแบบเดียวกันสำรองหลายอัน เด็กอาจจะเผลอทำจุกหลอกหล่นหรือหาย ซึ่งอาจจะทำให้เด็กรู้สึกหงุดหงิด หรือร้องไห้งอแงขึ้นมา การมีจุกหลอกที่ดีไซน์เหมือนอันเดิม ก็จะช่วยแก้สถานการณ์ตรงหน้าได้ทันที
จุกหลอกหัวกลมกับหัวแบนต่างกันอย่างไร
จุกหลอกหัวกลม มีลักษณะกลมมน เหมือนกับจุกขวดนมโดยทั่วไป มีลักษณะคล้ายกับหัวนมของแม่ เด็กจึงสามารถดูดได้ง่ายเพราะเด็กมีความคุ้นเคยกับลักษณะจุกที่มีความกลมมนเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม เวลาเลือกจุกหลอกแบบหัวกลม ควรเลือกที่มีขนาดพอดี หัวจุกไม่ใหญ่จนเกินไป เพราะเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการสำลักน้ำลาย หรือน้ำลายไปอุดกั้นทางเดินหายใจ
จุกหลอกหัวแบน มีลักษณะแบนเป็นทรงหัวตัด มีส่วนที่โค้งและเว้า ทำให้รองรับการสบกันของฟันได้ดี และเนื่องจากส่วนปลายของจุกหลอกมีลักษณะที่ค่อนข้างเล็ก ทำให้ลดความเสี่ยงของการสำลักน้ำลาย และไม่ไปอุดกั้นทางเดินหายใจของเด็ก อย่างไรก็ตาม จุกหลอกหัวแบนนี้มักจะมีปัญหาคือ เด็กไม่สามารถดูดไว้ในครั้งละนาน ๆ เนื่องจากมีขนาดเล็ก จึงมักหลุดออกจากปากง่าย บางครั้งร่วงลงพื้นและสัมผัสกับพื้นผิวอื่น ๆ ก็เสี่ยงที่จะได้รับเชื้อแบคทีเรียหากทำความสะอาดไม่ดี
จุกหลอกดีไหมสำหรับลูกน้อยวัยดูดนม
ข้อดี
- บรรเทาความรู้สึกหงุดหงิดของเด็ก เนื่องจากทารกหลายคนมักรู้สึกอารมณ์ดีเมื่อปากได้ดูดหรืออมของบางอย่าง เราจึงมักเห็นเด็ก ๆ ติดการดูดนิ้วหรือดูดจุกหลอกอยู่เสมอ
- ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจ ซึ่งดีต่อกรณีที่ต้องการเบี่ยงเบนความสนใจเด็กในสถานการณ์สำคัญเพื่อให้เด็กร่วมมือโดยง่าย เช่น การฉีดยา การฉีดวัคซีน การเจาะเลือด หรือกระบวนการรักษาโรคอื่น ๆ
- ลดความเสี่ยงของโรคไหลตาย โรคไหลตาย (SIDS) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กอายุ 2-4 เดือน โดยมักมีสาเหตุมาจากการกีดขวางการหายใจของทารกขณะนอนหลับ ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าการให้เด็กดูดจุกหลอกเวลางีบหรือนอนหลับ จุกหลอกจะช่วยเปิดปากให้มีช่องว่าง ทำให้อากาศสามารถไหลผ่านเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้น จึงมีส่วนช่วยลดโอกาสเสี่ยงของโรคไหลตายในเด็
- ป้องกันการดูดนิ้ว นิ้วมือของเด็กมักสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ มากมายในแต่ละวัน ซึ่งเสี่ยงที่จะรับเอาแบคทีเรียหรือเชื้อโรคที่เป็นอันตรายเข้าสู่ร่างกาย การดูดจุกหลอก จึงช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวลง
- ช่วยให้เด็กสบายตัวเมื่อขึ้นเครื่องบิน เวลาที่อยู่บนเครื่องบิน ความกดอากาศบนเครื่องบินอาจทำให้เด็กรู้สึกไม่สบายหู หรือปวดหู การใช้จุกหลอกจะช่วยให้เด็กรู้สึกสบายตัวมากขึ้น การดูดจุกหลอกยังทำให้ช่องหูเปิด จึงลดความเสี่ยงของการปวดหู
ข้อเสีย
- เด็กอาจติดจุกหลอก มีหลายกรณีที่ใช้จุกหลอกบ่อยจนกระทั่งเด็กติดจุกหลอก เวลาที่ไม่ได้ดูดจุกหลอกเด็กก็จะร้องไห้งอแง อาจสร้างปัญหากวนใจคุณแม่เวลาที่ลูกร้องไห้ไม่หยุด
- มีผลต่อสุขภาพฟัน การใช้จุกหลอกติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ อาจส่งผลต่อสุขภาพฟันของเด็กได้ โดยฟันอาจไม่สบกัน หรือฟันผิดรูป
- เด็กไม่อยากกินนมแม่ แม้ว่าลักษณะของจุกหลอกจะคล้ายหัวนมแม่ก็จริง แต่เด็กบางคนที่ใช้จุกหลอกเป็นระยะเวลานาน ๆ อาจรู้สึกคุ้นเคยกับจุกหลอกมากกว่าหัวนมแม่ ซึ่งอาจทำให้เด็กไม่ยอมกินนมแม่ ซึ่งสำหรับเด็กเล็ก ๆ การกินนมแม่ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด โดยเฉพาะช่วง 6 เดือนแรก ทารกควรได้กินนมแม่เป็นประจำ เพื่อให้เด็กได้รับสารอาหารและภูมิต้านทานที่ดีต่อร่างกาย
- เด็กตื่นกลางดึกบ่อย เด็กบางคนรู้สึกนอนหลับง่ายเมื่อได้ดูดจุกหลอก แต่เมื่อจุกหลอกหลุดออกจากปากตอนหลับ อาจทำให้เด็กรู้สึกตัว และร้องไห้งอแง อาจทำให้คุณแม่ต้องลุกกลางดึกอยู่บ่อย ๆ
- ดูดจุกหลอก ท้องอืดไหม?
จริง ๆ แล้วว การใช้จุกหลอกมีส่วนช่วยในการระบายแก๊สในช่องท้องมากกว่าจะทำให้เด็กท้องอื่น เพราะการดูดจุกหลอกนอกจากจะช่วยให้เด็กรู้สึกสบายตัวแล้ว ยังช่วยให้อากาศถ่ายเทเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้นอีกด้วย - จุกหลอกอันตรายหรือเปล่า?
จุกหลอกหากใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานก็สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็กในระยะยาวได้ เช่น การพูดไม่ชัด หรือกินอาหารลำบากเนื่องจากฟันผิดรูป หรือการใช้จุกหลอกที่ไม่ได้มาตรฐานก็เสี่ยงที่เด็กจะได้รับสารพิษจากวัสดุที่นำมาผลิตจุกหลอกเด็ก
อ้างอิง : https://www.enfababy.com/pacifier