น้ำนมหด น้ำนมน้อย น้ำนมไม่ไหล จะกู้น้ำนมยังไงได้บ้าง
น้ำนมหด นมน้อย นมไม่พอ เกิดจากอะไร?
น้ำนมหด น้ำนมน้อย น้ำนมไม่พอ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
- คุณแม่เริ่มให้น้ำนมลูกช้าเกินไป
- คุณแม่ให้นมลูกไม่สม่ำเสมอ หรือไม่ค่อยให้นมลูก ให้ ๆ หยุด ๆ
- กินยาหรืออาหารเสริมบางชนิดที่อาจมีผลต่อการให้นมลูก
- มีประวัติการผ่าตัดเกี่ยวกับเต้านมมาหลายครั้ง
- การคลอดก่อนกำหนด
- คุณแม่มีน้ำหนักตัวมากเกินไป หรือมีภาวะโรคอ้วน
- ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
- โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- ความเครียด ภาวะซึมเศร้า
- การสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์
น้ำนมน้อย ไม่พอเลี้ยงลูกส่งผลเสียอย่างไร?
หากทารกได้รับน้ำนมไม่เพียงพอ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของทารก ดังนี้
ทารกมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ที่ควรจะเป็น ทารกได้รับสารอาหารจากนมแม่ไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต อาจเสี่ยงที่จะไม่สบายบ่อย หรือติดเชื้อได้ง่าย เพราะน้ำนมแม่มีสารภูมิคุ้มกัน หากได้รับนมแม่น้อย ก็เสี่ยงที่ระบบภูมิคุ้มกันของทารกจะไม่แข็งแรง ส่งผลให้ทารกมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยง่าย
สัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกน้อยได้รับน้ำนมไม่เพียงพอ
หากเจ้าตัวเล็กมีปฏิกิริยาดังต่อไปนี้เกิดขึ้น อาจเป็นไปได้ว่าลูกน้อยกำลังได้รับนมไม่เพียงพอ
- ทารกไม่ค่อยร่าเริง ง่วงนอนมากผิดปกติ
- ทารกใช้เวลาดูดเต้านมน้อยกว่าปกติ เนื่องจากน้ำนมน้อย และอาจเผลอหลับคาเต้านมเร็วกว่าปกติ หรือบางกรณีอาจพบว่าทารกดูดนมคาเต้านานกว่าปกติก็ได้เช่นกัน
- ทารกกัดหัวนมแรงและบ่อยขึ้น
- น้ำหนักแรกเกิดของทารกไม่เพิ่มขึ้น หรือน้ำหนักขึ้นช้ากว่าเกณฑ์
- อุจจาระน้อยลง ปัสสาวะมีสีเข้ม หรือปัสสาวะเป็นสีสนิม
น้ำนมไหลน้อย น้ำนมไม่ไหล คุณแม่จะมีวิธีกู้น้ำนมได้อย่างไรบ้าง?
แม่ให้นมบุตรที่มีปัญหาน้ำนมหด น้ำนมน้อย สามารถดูแลตัวเองและกู้น้ำนมได้ ดังนี้
- ให้ทารกได้กินนมแม่เร็วที่สุด หลังคลอดควรให้ทารกได้ดื่มนมทันที ไม่ควรปล่อยไว้นานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน เพราะยิ่งรอนาน ยิ่งเสี่ยงที่จะเกิดภาวะน้ำนมน้อย และทารกก็จะต้องใช้เวลาในการทำความคุ้นชินกับนมแม่นานกว่าปกติ
- ให้นมลูกบ่อย ๆ ในหนึ่งวันแม่ควรให้นมบุตร 8-12 ครั้งต่อวัน ครั้งละ 2-3 ชั่วโมง
- ดูให้แน่ใจว่าทารกกัดหรือดูดหัวนมถูกจุด เพราะถ้าทารกกัดไม่ถูกหัวนม อาจทำให้ทารกได้รับนมแม่ไม่เพียงพอ และอาจจะมีผลต่อหัวนมแม่ที่อาจจะเกิดการบาดเจ็บที่หัวนมจนน้ำนมไม่ไหลหรือไหลน้อย
- เวลาให้นมควรให้ทั้งสองข้าง เพื่อให้เกิดการสมดุลของน้ำนมในรอยต่อ ๆ ไป เพราะการให้นมทารกแค่เพียงเต้าเดียวเป็นประจำ เสี่ยงที่จะทำให้น้ำนมไหลน้อย
- หากลืมให้นมลูก ควรปั๊มนมเก็บไว้ทันทีที่นึกขึ้นได้ เพื่อให้เกิดการสมดุลของน้ำนมในรอบต่อ ๆ ไป และเพื่อไม่ให้มีน้ำนมไหลเกินออกมาเมื่อมีน้ำนมเต็มเต้า
- ไม่กินยาสุ่มสี่สุ่มห้า แม่ให้นมบุตรควรกินยาตามที่แพทย์เห็นชอบเท่านั้น ไม่ควรซื้อยามากินเองโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์หรือเภสัชกร
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ สารนิโคตินในบุหรี่ และแอลกอฮอล์มีผลทำให้ปริมาณน้ำนมลดลงได้
- ใส่ใจกับอาหารการกิน หลังคลอดและช่วงเวลาให้นมบุตร คุณแม่ต้องใส่ใจกับอาหารการกินให้มากยิ่งขึ้น เพราะครั้งนี้อาหารที
- กินเข้าไปจะถูกส่งต่อสารอาหารผ่านทางน้ำนม หากกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ทารกก็อาจจะได้รับผลข้างเคียงทางสุขภาพด้วย หรือหากกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ก็จะทำให้การฟื้นตัวหลังคลอดของคุณแม่ไม่ดีเท่าที่ควรด้วย
- มีวินัยในการปั๊มนม ปั๊มนมอย่างสม่ำเสมอตามตารางการปั๊มนม เพื่อกระตุ้นให้น้ำนมไหล
โดยเฉพาะคุณแม่ทำงานนั้นมักไม่สามารถให้ลูกดูดนมบ่อยได้ เพราะไม่ได้อยู่กับลูกตลอดเวลา ต้องมาปั๊มนมในที่ทำงาน และการกู้น้ำนมสำหรับแม่ทำงานนั้นหัวใจอยู่ที่วินัยและความสม่ำเสมอในการปั๊ม คุณแม่ต้องปั๊มนมให้ถี่ขึ้นทุก 2 ชั่วโมง ครั้งละ 20-30 นาที โดยปั๊มให้ครบ 10 ครั้งภายใน 24 ชั่วโมง โดยช่วงสัปดาห์แรกที่กู้น้ำนมจะออกมาน้อยมากหรือบางคนไม่ออกมาเลย คล้ายกับช่วงแรกที่เริ่มปั๊มนมใหม่ ๆ หลังคลอด ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณแม่ว่าหยุดให้นมนานแค่ไหน เข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 น้ำนมจะเริ่มมาเองโดยที่คุณแม่ต้องรักษาความถี่ของการปั๊มอย่างต่อเนื่อง - เลือกใช้เครื่องปั๊มนมแบบปั๊มคู่ การปั๊มนมโดยใช้เครื่องปั๊มแบบปั๊มคู่จะทำให้ได้ปริมาณน้ำนมมากกว่า ช่วยประหยัดเวลาในการปั๊มนม และช่วยกระตุ้นน้ำนมด้วย
- ใช้ยาช่วย คุณแม่สามารถใช้ยาแลคโตกัส (Lactogogues) เป็นตัวช่วยในการเพิ่มปริมาณน้ำนมร่วมกับการกระตุ้นเต้านมได้ และให้หยุดใช้ยาเมื่อน้ำนมมีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยาเพิ่มน้ำนมควรสั่งจ่ายโดยแพทย์และเภสัชกร และอยู่ในความดูแลของแพทย์และเภสัชกรเท่านั้น ไม่ควรซื้อยามากินเองเด็ดขาด
- ลดความถี่การปั๊มลงเมื่อน้ำนมมาแล้ว คุณแม่อาจใช้เวลาในการกู้น้ำนมอยู่ประมาณหนึ่งเดือนปริมาณน้ำนมจะค่อยๆ กลับมาเท่าเดิม จนในที่สุดสามารถมีน้ำนมให้ลูกกินอย่างเพียงพอ เมื่อคุณแม่กู้จนได้ปริมาณน้ำนมตามที่ต้องการแล้ว ก็สามารถลดจำนวนการปั๊มให้เหลือ 7-8 ครั้งต่อ 24 ชั่วโมงได้ โดยที่ยังคงรักษาปริมาณน้ำนมเอาไว้ได้