พ่อแม่มือใหม่ต้องรู้ 7 อาหารอันตรายที่ลูกทารก ลูกเล็ก ห้ามกิน

Last updated: 2 พ.ค. 2566  |  1133 จำนวนผู้เข้าชม  | 

พ่อแม่มือใหม่ต้องรู้ 7 อาหารอันตรายที่ลูกทารก ลูกเล็ก ห้ามกิน

1. เด็กทารกห้ามกินน้ำผึ้ง

น้ำผึ้งมีประโยชน์มากมายค่ะ แต่กลับมีโทษกับเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ จึงห้ามเด็กเล็กกินน้ำผึ้งเด็ดขาดค่ะ เนื่องจากในน้ำผึ้งมีเชื้อแบคทีเรีย คลอสทริเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum) เกิดการสร้างโคโลนีในทางเดินอาหารของทารก ซึ่งในลำไส้ของทารกอายุต่ำกว่า 1 ขวบ ยังไม่มีจุลินทรีย์ที่สามารถป้องกันการแบ่งตัวของสปอร์ได้เหมือนเด็กโตและผู้ใหญ่ สปอร์จึงเกิดการแบ่งตัวอยู่ในลำไส้ แล้วปล่อยสารพิษเข้ากระแสเลือดไปทั่วร่างกาย สำหรับทารกที่เกิดโรคโบทูลิซึม จะมีอาการแรกเริ่ม คือ

1. ท้องผูก
2. อาการง่วงซึม เฉยเมย
3. ไม่ดูดนม ไม่กินอาหาร กลืนลำบาก
4. ร้องไม่มีเสียง
5. แขนขาเป็นอัมพาต
6. กรณีถึงขั้นรุนแรง เด็กอาจจะมีอาการหายใจลำบาก และหยุดหายใจในที่สุด 

2. เด็กเล็กไม่ควรกินป๊อบคอร์น หรือ อาหารประเภทถั่วหรือที่มีลักษณะเป็นเมล็ดเปลือกแข็ง

เนื่องจากเด็กเล็กไม่สามารถเคี้ยวอาหารเองได้ ซึ่งเมล็ดข้าวโพดที่คั่วหรืออบแล้วไม่แตกออกจะกลายเป็นข้าวโพดเมล็ดแข็ง เคี้ยวให้แตกละเอียดได้ยาก และสามารถหลุดลงคอจนทำให้เกิดอาการสำลักได้ สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (American Academy Pediatrics) จึงมีข้อแนะนำว่าไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี กินป๊อบคอร์นหรืออาหารที่มีความเสี่ยงจะสำลัก เช่น ถั่วเปลือกแข็ง เป็นต้น

3. เด็กเล็กไม่ควรกินผลไม้บางชนิด

พ่อแม่หลายคนอาจจะไม่ได้ระวังมาก แต่ควรใส่ใจนะคะ เพราะผลไม้ลูกกลม ๆ เล็ก ๆ เช่น องุ่น ลำไย เงาะ เป็นต้น เป็นผลไม้ที่ลื่นมาก เสี่ยงหลุดเข้าคอไปอุดหลอดลมและเสียชีวิตได้ หากจะให้กินควรหั่นเป็นชิ้น หรือ เส้นเล็ก ๆ หรือใช้วิธีการปั่นละเอียด และเวลาทานต้องคอยดูลูกเพื่อความปลอดภัยค่ะ 

4. เด็กเล็กไม่ควรลูกอมและเจลลี่

นอกจากรสชาติที่หวานเกินไปแล้ว ขนมเหล่านี้ยังส่งผลเสียอื่น ๆ ได้อีก เพราะอาหารประเภทนี้จะมีลักษณะ เหนียว แข็ง ลื่น และมีรูปร่างกลม ซึ่งมักจะลื่นไปติดหลอดลม และทำให้ลูกน้อยเสียชีวิตได้เลยนะคะ 

5. เด็กเล็กไม่ควรกินเกลือ หรืออาหารที่มีรสเค็ม เช่น ขนมขบเคี้ยวต่างๆ อาหารสำเร็จรูป เป็นต้น

เด็กเล็กไม่ได้ต้องการเกลือมาก เพราะเป็นวัยที่ไตกำลังพัฒนา และยังไม่พร้อมที่จะกรองอาหารที่มีรสเค็มจนเกินไป ซึ่งอาหารที่นำมาปรุงให้เด็กมักมีรสชาติอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องปรุงรสเพิ่มเติมเข้าไปค่ะ ในเด็กโตก็เช่นกัน ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงขนมถุง หรืออาหารสำเร็จรูป เพราะมักมีเกลือเป็นส่วนประกอบที่มากเกินความต้องการของเด็ก 

6. เด็กเล็กไม่ควรกินหอย

กระบวนการปรุงหอยมีโอกาสที่จะไม่สุกดี ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษอย่างรุนแรงได้ โดยเฉพาะกับเด็กเล็ก ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงค่ะ 

7. เด็กเล็กไม่ควรกินอาหารดิบ หรือ ปรุงไม่สุก

เช่น ไข่ที่ไม่สุก หรือ ไข่ยางมะตูม รวมทั้งเนื้อสัตว์และผักต่าง ๆ ด้วย เพราะอาจมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน ก่อให้เกิดท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษได้ ดังนั้น ควรปรุงอาหารให้สุกก่อน นำมาให้ลูกทานค่ะ

 

นอกจากอาหารเหล่านี้แล้ว ยังมีอาหารอีกหลายชนิดที่เด็ก ๆ ควรหลีกเลี่ยง เช่น น้ำอัดลม ขนมที่ไม่มีคุณค่าทางสารอาหารแถมยังใส่ผงชูรส เพื่อเพิ่มรสชาติ เป็นต้น

คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องเป็นซูเปอร์ฮีโร่ก็สามารถช่วยชีวิตลูกน้อยได้ค่ะ เพียงแค่ใส่ใจและให้ความสำคัญเรื่องการรับประทานอาหารของลูก คอยระมัดระวังเวลาที่คนใกล้ชิดหยิบยื่นของกินให้ลูก มีกติกาและวินัยในเรื่องของการรับประทานอาหาร ก็จะทำให้เด็ก ๆ มีสุขภาพที่แข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ อีกทั้งเมื่อเด็กโตขึ้น เขาเองก็จะมีลักษณะนิสัยการเลือกรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์และดีต่อสุขภาพได้อีกด้วย

 

อ้างอิง : https://www.rakluke.com/child-development-all/baby-development/item/food-for-baby.html

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้