ภาวะตั้งครรภ์เสี่ยง
โดยปกติแล้วการตั้งครรภ์จะถือว่า มีความเสี่ยงสูง ก็ต่อเมื่อการตั้งครรภ์นั้นมี ปัจจัยเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณแม่และลูกในครรภ์ โดยคุณหมอที่ดูแลจะคอยหาและเฝ้าระวังความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น คุณแม่ก็สามารถช่วยคุณหมอได้โดยการแจ้งประวัติต่าง ๆ ของคุณแม่ให้ละเอียดที่สุด และแจ้งคุณหมอเมื่อรู้สึกว่าตนเองมีอาการผิดปกติ
ปัจจัยเสี่ยง มีอะไรบ้าง?
- โรคประจำตัว
- อายุของคุณแม่
- โรคและความผิดปกติของคุณแม่ที่เกิดก่อนการตั้งครรภ์
- โรคและความผิดปกติของคุณแม่ที่เกิดระหว่างตั้งครรภ์
- ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์
โรคที่ใกล้ตัวกับคุณแม่ตั้งครรภ์
โรคเบาหวาน ขณะตั้งครรภ์
- อาการ ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการบ่งบอกของโรค จะทราบก็ต่อเมื่อเข้ามารับการตรวจคัดกรอง โดยสูตินรีแพทย์จะเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงและกำหนดเวลาที่ควรตรวจคัดกรองเบาหวาน
- สาเหตุ ขณะตั้งครรภ์ รกสร้างฮอร์โมนหลายชนิดซึ่งเข้าไปในร่างกายคุณแม่ตั้งครรภ์ ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน เป็นเหตุให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนกลายเป็นเบาหวานได้ หลังคลอดระดับน้ำตาลในเลือดคุณแม่มักจะกลับสู่ปกติ
- การป้องกัน ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงเวลาตั้งครรภ์ต้องรีบไปฝากครรภ์ ถ้าตรวจพบจะได้รักษาและปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่เคยมีประวัติเป็นเบาหวานมาก่อน ควรไปรับการตรวจวัดน้ำตาลในเลือด เพื่อดูว่าเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (GDM) หรือไม่ ถ้าพบว่าเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรได้รับการดูแลจากสูตินรีแพทย์อย่างจริงจัง
การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- อาการ ปัสสาวะกะปริดกะปรอย รู้สึกปวดขัดหรือแสบร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ อาจมีอาการปวดที่ท้องน้อยร่วมด้วย ปัสสาวะอาจมีกลิ่นเหม็น สีหมักใส แต่บางรายอาจขุ่นหรือมีเลือดปน
- สาเหตุ จากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ระบบทางเดินปัสสาวะจะทำงานมากขึ้นกว่าเดิม ท่อไตจะเกิดการยืดขยายและเคลื่อนไหวได้ช้าลงกว่าเดิม กระเพาะปัสสาวะจะมีความจุน้อยลงจากการกดเบียดของมดลูกไปดันกระเพาะปัสสาวะ ทำให้กระเพาะปัสสาวะทำงานได้ไม่ดี มีคั่งค้างนาน หรืออั้นปัสสาวะนานๆ จึงเกิดการติดเชื้อได้ง่าย
- การป้องกัน พยายามดื่มน้ำมาก ๆ และระวังตัวอย่าอั้นปัสสาวะ การอั้นปัสสาวะนาน ๆ ทำให้เชื้อโรคอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ ทำให้สามารถแพร่พันธ์ุได้ และหลังถ่ายอุจจาระควรใช้กระดาษชำระเช็ดทำความสะอาดจากข้างหน้าไปข้างหลัง เพื่อป้องกันไม่ให้นำเชื้อโรคจากบริเวณทวารหนักเข้าสู่ท่อปัสสาวะ รวมทั้งการดูแลความสะอาดของกางเกงในและไม่รัดอึดอัด ระบายอากาศได้ดี
โรคโลหิตจาง
- อาการ มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น มึนงง หน้ามืด เวียนศีรษะและมักมีอาการเบื่ออาหารร่วมด้วย
- สาเหตุ มี 2 ชนิด คือ โรคเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก กับเลือดจางโรคเลือดทารัสซีเมีย อีกทั้งคุณแม่ตั้งครรภ์มีความต้องการธาตุเหล็กเพิ่มขึ้นกว่าคนปกติ เพื่อนำไปใช้ในการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
- การป้องกัน ก่อนตั้งครรภ์ควรมีการตรวจเช็คร่างกายว่ามีภาวะโลหิตจาง ถ้าเป็นโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ควรกินอาหารเสริมให้ร่างกายเป็นปกติก่อนจึงตั้งครรภ์ ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยอาหารที่มีธาตุเหล็กมาก เช่น ตับ เลือดหมู นม ไข่ ส่วนโรคโลหิตจางจากโรคเลือดทารัสซีเมียสามารถตรวจคัดกรองได้ว่าลูกจะเสี่ยงไหม โดยการตรวจเลือดของพ่อแม่ว่าเป็นพาหะหรือไม่
ภาวะแพ้ท้อง
- สาเหตุ ภาวะตั้งครรภ์ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนต่าง ๆ หลายชนิดที่รกสร้าง และการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจและอารมณ์ ทำให้เกิดอาการที่พบร่วมกันในคุณแม่ตั้งครรภ์และอาจทำให้เกิดโรคและภาวะผิดปกติในคุณแม่ตั้งครรภ์บางราย
- อาการ ระยะแรกมักมีอาการอ่อนเพลีย เต้านมคัดและเจ็บ ปัสสาวะบ่อย และมีอาการเบื่ออาหารหรืออยากอาหารมากขึ้น ร่วมกับมีประวัติขาดประจำเดือนหรือประจำเดือนเลยกำหนดเป็นสัปดาห์ ส่วนผู้ที่มีอาการแพ้ท้องมักมีอาการคลื่นไส้
- การป้องกัน
- ควรกินอาหารพวกโปรตีน อาหารที่มีธาตุเหล็ก แคลเซียม ผักและผลไม้ให้มาก ๆ
- งดเแอลกอฮอล์และบุหรี่
- พักผ่อนให้มากขึ้น เมื่อครรภ์ใหญ่ขึ้นควรนอนตะแคง หลีกเลี่ยงการนอนหงาย เพราะมดลูกอาจกดหลอดเลือดใหญ่และท่อเลือดดำ
- ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไป
- หลีกเลี่ยงการใส่ร้องเท้าส้นสูง เพราะอาจทำให้ปวดหลังได้
โรคความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
- อาการ ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแต่อย่างใด และมักจะตรวจพบโดยบังเอิญขณะไปให้แพทย์ตรวจรักษา ส่วนน้อยอาจมีอาการมึนท้ายทอย เวียนศรีษะ หรือหากเป็นมากอาจมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ มือเท้าชา ตามัวหรือมีเลือดกำเดาไหล
- สาเหตุ ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่จะพบบ่อยในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่อายุน้อยหรืออายุมาก และมักพบในการตั้งครรภ์แรก นอกจากนั้นสามารถพบได้ในตั้งครรภ์แฝดหรือมีประวัติสมาชิกในครอบครัวที่แม่เคยเป็นโรคนี้ขณะตั้งครรภ์
- การป้องกัน ควรจะตั้งครรภ์ในอายุที่เหมาะสม ฝากครรภ์และปรึกษาแพทย์ เพื่อจะสามารถตรวจพบตั้งแต่แรกและให้การรักษาได้ทันท่วงที
แท้งบุตร
- อาการ ระยะแรกที่ทารกหรือตัวอ่อนยังมีชีวิตอยู่ อาจมีอาการเลือดออกทางช่องคลอดเพียงเล็กน้อย ร่วมกับปวดท้องน้อย หากผู้ป่วยได้นอนพักผ่อนเต็มที่ 3 - 4 วัน เลือดอาจหยุดได้เอง และการตั้งครรภ์อาจดำเนินต่อไปได้เป็นปกติ แต่หากตัวอ่อนเสียชีวิตลงจะเกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรงคล้ายคลอดบุตร และอาจเห็นก้อนเนื้อของตัวอ่อนหลุดออกมา ถ้าตัวอ่อนหลุดออกมาหมดจะเรียกว่า การแท้งโดยสมบูรณ์ แต่ถ้าหลุดออกมาไม่หมดอาจจะต้องทำการขูดมดลูกนำเศษรกที่ค้างออกมา
- สาเหตุ มีอยู่ 2 ประการ คือ แท้งเอง กับตั้งใจทำแท้ง การแท้งเองอาจเกิดได้จากไข่ที่ไม่สมบูรณ์ หรือแม่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น เบาหวาน โรคเลือดบางชนิด ก็ทำให้แท้งได้ บางรายก็หาสาเหตุชัดเจนไม่ได้ เช่น อาจจะเกิดจากภาวะเครียด อดนอน ทำงานหนัก
- การป้องกัน ก่อนตั้งครรภ์ต้องตรวจสุขภาพร่างกาย ถ้ามีโรคต้องรีบรักษาให้หายหรือให้อยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ จึงปล่อยให้มีการตั้งครรภ์และควรปรึกษาแพทย์ก่อนตั้งครรภ์
การป้องกันภาวะแทรกซ้อน
- รับประทานวิตามินโฟลิค (โฟเลต) 4 - 5 มิลลิกรัมต่อวัน ตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ ตลอดจนคลอด
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามข้อบ่งชี้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม
- ออกกำลังกายตามความเหมาะสม
- งดการดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
- พบแพทย์ตามนัด
อ้างอิง : https://th.mamypoko.com/th/mamatips/tipformom72.html