Last updated: 27 ม.ค. 2566 | 251 จำนวนผู้เข้าชม |
สร้างเด็กสมองดี ด้วยวิธีเซิร์ฟแอนด์รีเทิร์น
เซิร์ฟแอนด์รีเทิร์น เป็นความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ การใส่ใจในการตอบสนองและให้ความสนใจกับการพยายามสื่อสารของเด็ก การเซิร์ฟ หรือส่งสาร หมายถึงตัวเด็ก รีเทิร์น หรือการตอบกลับ หมายถึงตัวผู้ใหญ่ เปรียบเหมือนการเล่นโยนลูกบอล ต้องมีโยนรับ-ส่งลูกบอล
ทำไมเซิร์ฟแอนด์รีเทิร์นจึงสำคัญ สำหรับวัยสามขวบปีแรก
- สามปีแรกของชีวิตมนุษย์ สมองมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
- เมื่อทำเซิร์ฟแอนด์รีเทิร์นทุกวัน จะช่วยสร้างต้นทุนที่ดีให้กับเด็กด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต พฤติกรรมของเด็ก สุขภาพของเด็กและทักษะต่าง ๆ เมื่อเด็กเผชิญความท้าทาย
- เป็นพื้นฐานของการสร้าง EF ทักษะการปรับตัวเมื่อเผชิญปัญหาหรือความลำบาก และควบคุมตนเอง
- เด็กไว้ใจผู้เลี้ยงดู และรู้ว่ามีผู้ใหญ่ [อย่างน้อย 1 คน] ที่เขาสามารถไว้วางใจและเชื่อใจได้ รวมถึงมีความรู้สึกปลอดภัย
วิธีเซิร์ฟแอนด์รีเทิร์น 5 ขั้นตอน
1. เอาใจใส่ในสิ่งที่เด็กจดจ่อหรือสนใจและให้การตอบสนอง เช่น เมื่อเด็กกำลังมองหรือชี้ไปที่บางสิ่งบางอย่างอยู่ เมื่อเด็กส่งเสียงหรือทำหน้าตา ท่าทาง เมื่อเด็กขยับแขน ขาหรืออยากจะไป อย่าลืมให้ความสนใจในสิ่งที่เด็กสนใจ และตอบสนองต่อเด็ก แม้ว่าผู้เลี้ยงดูจะไม่ได้ว่างทำแบบนี้ทั้งวัน แต่อย่าลืมหาโอกาสตอบสนองต่อสิ่งที่เด็กสนใจ วันละนิด เเละพยายามทำทุกวัน
ทำไมต้องทำ ... เพราะการเอาใจใส่ต่อปฏิกิริยาของเด็ก [เซิร์ฟ] จะช่วยให้ผู้เลี้ยงดูเห็นถึงความสามารถ ความสนใจ และสิ่งจำเป็นที่เด็กควรได้รับ และยังสามารถส่งเสริมให้เด็กได้สำรวจ รวมทั้งช่วยเพิ่มความผูกพันระหว่างเด็กและผู้เลี้ยงดูอีกด้วย
2. ตอบกลับหรือรีเทิร์นด้วยการเสริมแรง ให้กำลังใจและกระตุ้นเด็ก ตอบสนองเด็กด้วยการกอด พูดด้วยความอ่อนโยน เช่น ขอบใจนะ ให้ช่วยไหม ช่วยเหลือเด็ก กล่าวคำชม แสดงการรับรู้ในสิ่งที่เด็กพยายามสื่อสาร แสดงสีหน้า ท่าทาง หรือพูด ‘แม่เห็นแล้วจ๊ะ’ พยักหน้า ยิ้มตอบ ทำท่าทางประกอบคำพูด เพื่อให้เด็กรู้ว่า เราเอาใจใส่ในสิ่งที่เขาสนใจ หรืออาจจะหยิบจับสิ่งที่เด็กสนใจมาให้เด็ก
ทำไมต้องทำ ... เพราะการตอบกลับนี้ จะช่วยให้เด็กรับรู้ว่า สิ่งที่เขาคิดหรือรู้สึก มีคนรับฟังและเข้าใจ วิธีนี้ช่วยตอบความสงสัย และทำให้เด็กอยากเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น แต่หากไม่มีการตอบสนองเลย เด็กจะเกิดความเครียดในระดับรุนแรงได้
3. บอกชื่อสิ่งต่าง ๆ ผู้ใหญ่สามารถตอบกลับเด็กด้วยการบอกชื่อ สิ่งที่เด็กกำลังจ้องมอง สิ่งที่เด็กกำลังทำ หรือรู้สึก เรากำลังช่วยให้สมองที่ทำหน้าที่ด้านภาษาเชื่อมต่อกัน และสิ่งนี้เกิดก่อนที่เด็กจะพูดหรือเข้าใจภาษา เราสามารถบอกชื่อต่าง ๆ เช่น ชื่อคน สิ่งของ สัตว์ ความรู้สึก หรือสิ่งที่กำลังทำ ยกตัวอย่าง ถ้าเด็กชี้ที่จมูก เราตอบกลับว่า ใช่จ๊ะ นี่จมูกลูกเอง
ทำไมต้องทำ ... เมื่อเราบอกชื่อสิ่งที่เด็กจดจ่อ เราได้ช่วยให้เด็กเข้าใจโลกรอบตัวของเด็กเองและรับรู้สิ่งที่นำไปสู่ความคาดหวัง การบอกชื่อสิ่งต่าง ๆ เป็นการช่วยให้เด็กใช้คำต่าง ๆ ได้และช่วยให้เด็กรับรู้ว่า เราเอาใจใส่ตัวเด็ก
4. ผลัดกันเล่น และรอการตอบไปและถอยออกมา ทุกครั้งที่เราตอบกลับการส่งสารของเด็ก จะช่วยให้เด็กตอบสนองเรากลับมาด้วยเช่นกัน ผลัดกันเล่นหรือสลับกันเล่นอาจจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว หรือหลายครั้ง และการรอคอยเป็นสิ่งสำคัญ เด็กต้องรู้จักรอเวลาในการตอบสนอง โดยเฉพาะถ้าหากเด็กเรียนรู้หลายอย่างในแต่ละครั้ง การรอคอยช่วยให้เด็กเล่นต่อไปได้
ทำไมต้องทำ ... การผลัดกันเล่นนี้ช่วยให้เด็กเรียนรู้การควบคุมตนเอง และวิธีเล่นด้วยกันกับคนอื่น ๆ โดยการรอคอยนี้ เราให้เวลาเด็กในการคิดด้วยตัวของเด็กเอง และสร้างความมั่นใจ และอิสระ การรอคอยยังช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่เด็กต้องการอีกด้วย
5. ฝึกการเล่นให้จบและการเริ่มต้นใหม่ เด็กจะส่งสัญญาณ เมื่อเด็กเล่นพอแล้ว และพร้อมจะไปเล่นสิ่งใหม่ เด็กอาจจะเดินไปหาของเล่นชิ้นใหม่ หยิบของเล่นชิ้นใหม่ หรือเดินออกมา หรือเริ่มส่งเสียง หรืออาจจะบอกว่า เล่นพอแล้ว เมื่อเราเห็นสิ่งที่เด็กจดจ่อ เราจะรับรู้ว่า เด็กพร้อมที่จะเล่นพอแล้ว และอยากจะเริ่มการเล่นใหม่
ทำไมต้องทำ ... เราสามารถให้เด็กเป็นผู้นำในการเล่น และเราเป็นคนคอยสนับสนุนในขณะที่เด็กกำลังเล่น และสำรวจโลกรอบตัวของเด็กเอง พร้อมรับรู้สิ่งที่เด็กส่งมาและตอบสนองกลับไปให้มากเท่าที่จะมากได้
ขอขอบคุณ- สสส.
1 มิ.ย. 2567
6 มิ.ย. 2567
1 มิ.ย. 2567
6 มิ.ย. 2567